หน้าเว็บ

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

เพลงอาขยานล้านนา

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร

สิบแหลมซาวแหลมบ่เท่าแหลมใบพร้าว
สิบเหล้าซาวเหล้าบ่เท่าเหล้าเดือนเกี๋ยง
สิบเสียงซาวเสียงบ่เท่าเสียงแมงว้าง
สิบจ๊างซาวจ๊างบ่เท่าจ๊างเอราวัณ

อายุสิบปี๋อาบน้ำบ่หนาว
อายุซาวปี๋แอ่วสาวบ่ก้าย
สามสิบปี๋บ่หน่ายสงสาร
สี่สิบปี๋ยะก๋านเหมือนฟ้าผ่า

อายุห้าสิบปี๋สาวด่าบ่เจ็บใจ๋
หกสิบปี๋ไอเหมือนฟานโขก
เจ็บสิบปี๋บ่าโหกเต๋มตั๋ว
แปดสิบปี๋ไค่หัวเหมือนไห้

อายุเก้าสิบปี๋ไข่กต๋ายบ่ไข้ก่ต๋าย
จะเอาอันใดปบ่ได้ซักอย่าง
บ่สัวะบ่วางบ่หายหม่นเศร้า
คนบ่าเก่าเล่าไว้มาเมิน

หมายเหตุ คำแปลโดยผู้เขียน
ซาว : ยี่สิบ
เดือนเกี๋ยง : เดือน ๑ เหนือ ตรงกับเดือน ๑๑ ภาคกลาง หรือช่วงเดือนตุลาคมในปัจจุบัน
แมงว้าง : แมงช้าง
จ๊าง : ช้าง
ก้าย : เบื่อ หน่าย
ฟานโขก : ฟาน-กวางชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กพอๆ กับสุนัข ฟานโขก-เสียงร้องของฟาน
บ่าโหก : ริดสีดวง ในที่นี้หมายถึงก้อนเนื้อ ปุ่มโปนต่างๆ
ไค่หัว : หัวเราะ
สัวะ : ละทิ้ง ปล่อย
บ่าเก่า : เป็นคำเรียกคนสมัยก่อน

เพลงอาขยานล้านนา เป็นเพลงที่จรัล  มโนเพ็ชร์ได้นำเอาสำนวนคำเปรียบเทียบของคนโบราณมาใส่ทำนองขับร้องได้อย่างไพเราะและลงตัว ท่อนแรกเป็นการเปรียบเทียบที่สุดของสิ่งของแต่ละอย่าง เช่นที่สุดของเหล้าต้องเป็นเหล้าเดือนเกี๋ยง เป็นต้น ส่วนท่อนที่เหลือเป็นสำนวนโบราณ

เพลงนี้ได้นำเอาทำนองเพลงพื้นบ้านเดิมคือเพลงพม่า มาใส่เนื้อร้องเข้าไป ซึ่งทำนองเพลงพม่านี้ในทางเหนือเองก็ได้มีการใช้เป็นเพลงขับร้องอยู่แล้วในรูปของการขับซอ แต่ก่อนเพลงพม่าเป็นเพลงบรรเลงซึง สะล้อ แบบไม่ลงจังหวะตกตามการนับจังหวะกลอง ภายหลังได้มีการปรับท่อนและจังหวะจนลงตัวกับกลอง สามารถใช้บรรเลงเป็นวงดนตรีพื้นบ้านและเพลงซอได้ ปัจจุบันได้มีการนำเอาเพลงทำนองพม่าไปทำเป็นเพลงคำเมืองสตริง โดยการใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าเลียนเสียง เช่น คีย์บอร์ด กีตาร์ เบส กลอง ซึ่งก็ได้รับความนิยมไปตามยุคสมัย แต่คนฟังโดยทั่วไปมักจะไม่รู้ว่าเป็นเพลงดั้งเดิมอะไร

เพลงอาขยานล้านนานี้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งเล่นดนตรีทั้งพื้นบ้านล้านนาและสากล และได้ฟังเพลงของจรัล  มโนเพ็ชร์ มาพอสมควร มีความรู้ลึกว่าเพลงอาขยานล้านนานี้ใช้กีตาร์เล่นเข้ากับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน (ซึง) ได้อย่างไพเราะลงตัวมากที่สุด (ในบรรดาเพลงของจรัลทั้งหมด) ทั้งวลีโน๊ต โทนเสียง คอร์ด เข้ากันได้อย่างกลมกลืน แนะนำให้ท่านลองหาฟังดูครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น