หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

เพลงม่วนขนาด

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร์

ตะก่อนอยู่เมืองเหนือเวียงเจียงใหม่ดวง ป๋างมาอยู่ในเมืองหลวงอู้จะใดว่าจะดี
จะเอาสบายต้องมีสตางค์เป๋นก๋อง กอนว่าเฮาใส่เงินใส่ทองรับรองว่าเฮามีศักดิ์มีศรี
แบกดินแบกทรายดิ้นไปดิ้นมาหาตังค์ พอได้เงินบ่มีคนจัง เงินมันดังในปฐพี
เงิน เจ้าป้อเงิน คนทำมาหาเงินกั๋นม่วนขนาด

จะไปจะมารถรามันก่เว็ย กวั๊กมือก่บึ่งมาเกยรถติดแอร์ล่องกอง
ถ้าอยากจะเฮรถเมล์โคตรจะมันส์ คนขึ้นไปขี่ได้เป็นพันยัดกันไปมาเป็นปลากระป๋อง
สะดวกสบายน้ำไฟเข้าไปถึงเฮือน ใจ้ไปจะมีใบทวงสิ้นเดือนมีคนมาเก็บเงินทอง
ทวง...เจ้าแม่ทวง กระเป๋ากล๋วงไปเลย จ่ายม่วนขนาด

อยู่ไปอยู่มากึ๊ดเติงบ้านนาป่าดอย ปิ๊กคืนจะมีไผกอยถ้าอยู่ดอยฮักตั๋วเฮา
ต่างคนต่างไปใจ้ชีวิตในตั๋วเมือง หน้าแล้งไปเหลือแต่ตอเฟืองลืมมาแลคนแก่คนเฒ่า
อี่ปู่ย่าเฮยซักวันข้าคงจะคืน เมื่อบ้านเฮาบ่ลืมวานซืนเคยมีมาในป่าและเขา
ซึงฮับค่าวซอ เสียงสะล้อคลอครวญฟังม่วนขนาด

เพลงม่วนขนาด เป็นเพลงที่นำเอาเพลงพื้นเมืองเดิมคือเพลงเงี้ยว มาบรรเลงโดยใส่คำร้องเข้าไป เพลงเงี้ยวนี้เป็นเพลงเก่า ไม่ทราบนามผู้แต่ง มีลักษณะเป็นเพลงสำเนียงพม่า มักใช้เล่นบรรเลงกับเครื่องสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซึง มีความไพเราะและเล่นต่อเนื่องได้เรื่อยๆ จึงเหมาะที่จะนำมาใส่เนื้อร้องเพื่อขับกล่อมบรรยายเรื่องราวความรู้สึกต่างๆ โดยนำเอามาใช้เป็นการขับซอ เป็นซอทำนองเพลงเงี้ยว เป็นที่นิยมแพร่หลาย

เพลงนี้ใช้กีตาร์เล่นโดยมีซึงบรรเลงประกอบโซโล่ ผมชอบการบรรเลงเพลงนี้พอๆ กับเพลงอาขยานล้านนาเลยครับ คือมีความกลมกลืนกันอย่างบอกไม่ถูก เสียงกีตาร์เดินจังหวะเรียบๆ ด้วยการเกา (Picking) ไปเรื่อยๆ ส่วนซึงก็เล่นในท่อนสร้อย (Riff) และท่อนโซโล่ (Solo) เสียงซึงนั้นปรับตั้งได้เข้ากับเสียงกีตาร์ ไม่สูงไม่ต่ำ การดีดซึงก็ไม่รัวโน๊ตมาก ได้ทั้งความเหน่อและความหวานเข้ากับคอร์ดกีตาร์อย่างลงตัว จึงทำให้เพลงติดหูน่าฟัง และจำได้ง่าย นี่เป็นเสน่ห์ของเพลงคุณจรัลเลยครับ

ในเนื้อเพลงที่คุณจรัลได้แต่งคำร้องเข้าไป เป็นการเล่าเรื่องราวถึงวิถีชีวิตของคนในสังคมยุคหนึ่งที่ออกเดินทางไปทำงานหาเงินในเมืองหลวง ต้องจากบ้านนาป่าเขามาอยู่ในป่าคอนกรีต ใช้แรงงานหาเงินท่ามกลางความศิวิไลซ์ของคนเมือง รอวันที่จะได้กลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนที่มีพร้อมทั้งครอบครัวและธรรมชาติอันอบอุ่น

คุณจรัลแต่งเพลงนี้ได้เยี่ยมมากเลยครับ ภาษาง่ายๆ แบบพื้นๆ เหมือนอ้ายน้อยอ้ายใจ๋มานั่งเล่าให้ฟัง คือมีความเป็นชาวบ้านมาก ฟังแล้วสะท้อนความรู้สึกของคนเมือง (คนเหนือ) ที่จากบ้านไปทำงานในเมืองกรุงได้เป็นอย่างดี การบรรยายเปรียบเทียบนั้นเห็นภาพชัดเจนมาก กวั๊กมือก่บึ่งมาเกย รถติดแอร์ล่องกอง : บรรยายถึงรถแท็กซี่, คนขึ้นไปขี่ได้เป็นพันยัดกันไปมาเป็นปลากระป๋อง : เห็นภาพรถเมล์คนแน่นเอี๊ยด, น้ำไฟเข้าไปถึงเฮือน ใช้ไปจะมีใบทวงสิ้นเดือนมีคนมาเก็บเงินทอง : พูดถึงความสบายในการใช้ชีวิตที่ต่างจากบ้านนาชนบทที่ต้องจุดตะเกียงหาบน้ำ  นี่ถ้าสมัยที่คุณจรัลแต่งเพลงนี้มีรถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดิน อยากรู้ว่าแกจะบรรยายยังไงเหมือนกัน

เมื่อก่อนตอนที่ผมได้ไปเรียนและไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพ ก็ได้หอบหิ้วเอาเทปเพลงโฟล์คซ็องคำเมืองของคุณจรัลไปฟังด้วย แก้ขัดความคิดถึงบ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนช่วงสงกรานต์ผมกับเพื่อนที่พักอยู่ด้วยกัน (เป็นคนเชียงใหม่เหมือนกัน) ไม่ได้จองตั๋วกลับล่วงหน้าเพราะไม่คิดว่าตั๋วจะเต็ม พอวันที่ 12 ไปเดินหาซื้อตั๋วกันก็ไม่มีแล้วก็เลยคิดว่าปีนี้ไม่กลับก็ได้ กลับมาถึงห้องก็นอนเล่นพักผ่อนด้วยความเหนื่อยที่ไปตะลอนๆ กันมา ผมก็เปิดเพลงโฟล์คซ็องของคุณจรัล ผ่านไปสองสามเพลงพอถึงเพลงม่วนขนาด ท่ามกลางความเงียบพอเพลงจบ ผมกับเพื่อนลุกขึ้นมามองหน้ากัน ต่างคนต่างน้ำตาไหล เพื่อนมันก็โวยผมว่า มึงเปิดทำเ_ี่ยไร, เอ้า...ก็ฟังกันบ่อยๆ นี่เฮ้ย.... แล้วต่างคนต่างเงียบฟังเพลงต่อ พอเพลงของกิ๋นคนเมืองจบ ผมกับเพื่อนก็ลุกพร้อมกันอีกครั้งแล้วก็พูดพร้อมกัน ป่ะ...กลับโว้ย อยู่ไม่ไหวแล้ว  หลังจากนั้นก็เก็บกระเป๋า ผมกับเพื่อนหิ้วถุงนอนไปกันคนละผืนกะว่าถ้าหาตั๋วคืนนี้ไม่ได้ก็นอนกันที่หมอชิตรอจนกว่าจะได้ตั๋วละกัน ผลปรากฎว่าผมและเพื่อนได้รถเสริมกลับเที่ยวดึกเลยครับ ยัดกันเป็นปลากระป๋องเหมือนในเพลงเลย

ผมคิดว่าไม่เพียงแค่ผมเท่านั้น คนเหนือเกือบทุกๆ คนที่อยู่ไกลบ้าน ถ้าได้ฟังเพลงของคุณจรัลแล้วต่างก็คงจะมีความรู้สึกเหมือนกันคือคิดถึงบ้าน เสน่ห์ของความเป็นไทยเลยครับ คนไทยไม่ว่าจะเป็นคนภาคไหน ถ้าต้องจากบ้านจากถิ่นฐานไปอยู่ที่ไกลก็ยังมีความรักความผูกพันกับบ้านเกิดของตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน