หน้าเว็บ

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

เพลงอาขยานล้านนา

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร

สิบแหลมซาวแหลมบ่เท่าแหลมใบพร้าว
สิบเหล้าซาวเหล้าบ่เท่าเหล้าเดือนเกี๋ยง
สิบเสียงซาวเสียงบ่เท่าเสียงแมงว้าง
สิบจ๊างซาวจ๊างบ่เท่าจ๊างเอราวัณ

อายุสิบปี๋อาบน้ำบ่หนาว
อายุซาวปี๋แอ่วสาวบ่ก้าย
สามสิบปี๋บ่หน่ายสงสาร
สี่สิบปี๋ยะก๋านเหมือนฟ้าผ่า

อายุห้าสิบปี๋สาวด่าบ่เจ็บใจ๋
หกสิบปี๋ไอเหมือนฟานโขก
เจ็บสิบปี๋บ่าโหกเต๋มตั๋ว
แปดสิบปี๋ไค่หัวเหมือนไห้

อายุเก้าสิบปี๋ไข่กต๋ายบ่ไข้ก่ต๋าย
จะเอาอันใดปบ่ได้ซักอย่าง
บ่สัวะบ่วางบ่หายหม่นเศร้า
คนบ่าเก่าเล่าไว้มาเมิน

หมายเหตุ คำแปลโดยผู้เขียน
ซาว : ยี่สิบ
เดือนเกี๋ยง : เดือน ๑ เหนือ ตรงกับเดือน ๑๑ ภาคกลาง หรือช่วงเดือนตุลาคมในปัจจุบัน
แมงว้าง : แมงช้าง
จ๊าง : ช้าง
ก้าย : เบื่อ หน่าย
ฟานโขก : ฟาน-กวางชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กพอๆ กับสุนัข ฟานโขก-เสียงร้องของฟาน
บ่าโหก : ริดสีดวง ในที่นี้หมายถึงก้อนเนื้อ ปุ่มโปนต่างๆ
ไค่หัว : หัวเราะ
สัวะ : ละทิ้ง ปล่อย
บ่าเก่า : เป็นคำเรียกคนสมัยก่อน

เพลงอาขยานล้านนา เป็นเพลงที่จรัล  มโนเพ็ชร์ได้นำเอาสำนวนคำเปรียบเทียบของคนโบราณมาใส่ทำนองขับร้องได้อย่างไพเราะและลงตัว ท่อนแรกเป็นการเปรียบเทียบที่สุดของสิ่งของแต่ละอย่าง เช่นที่สุดของเหล้าต้องเป็นเหล้าเดือนเกี๋ยง เป็นต้น ส่วนท่อนที่เหลือเป็นสำนวนโบราณ

เพลงนี้ได้นำเอาทำนองเพลงพื้นบ้านเดิมคือเพลงพม่า มาใส่เนื้อร้องเข้าไป ซึ่งทำนองเพลงพม่านี้ในทางเหนือเองก็ได้มีการใช้เป็นเพลงขับร้องอยู่แล้วในรูปของการขับซอ แต่ก่อนเพลงพม่าเป็นเพลงบรรเลงซึง สะล้อ แบบไม่ลงจังหวะตกตามการนับจังหวะกลอง ภายหลังได้มีการปรับท่อนและจังหวะจนลงตัวกับกลอง สามารถใช้บรรเลงเป็นวงดนตรีพื้นบ้านและเพลงซอได้ ปัจจุบันได้มีการนำเอาเพลงทำนองพม่าไปทำเป็นเพลงคำเมืองสตริง โดยการใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าเลียนเสียง เช่น คีย์บอร์ด กีตาร์ เบส กลอง ซึ่งก็ได้รับความนิยมไปตามยุคสมัย แต่คนฟังโดยทั่วไปมักจะไม่รู้ว่าเป็นเพลงดั้งเดิมอะไร

เพลงอาขยานล้านนานี้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งเล่นดนตรีทั้งพื้นบ้านล้านนาและสากล และได้ฟังเพลงของจรัล  มโนเพ็ชร์ มาพอสมควร มีความรู้ลึกว่าเพลงอาขยานล้านนานี้ใช้กีตาร์เล่นเข้ากับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน (ซึง) ได้อย่างไพเราะลงตัวมากที่สุด (ในบรรดาเพลงของจรัลทั้งหมด) ทั้งวลีโน๊ต โทนเสียง คอร์ด เข้ากันได้อย่างกลมกลืน แนะนำให้ท่านลองหาฟังดูครับ

เพลงล่องแม่ปิง

คำร้อง จรัล มโนเพ็ชร์

ดอกบัวตองนั้นบานอยู่บนยอดดอย
ดอกเอื้องสามปอยบ่เกยเบ่งบานบนลานพื้นดิน
ไม่ใหญ่ไพรสูงนกยูงมาอยู่กิ๋น
เสียงซึงสะล้อจ๊อยซอเสียงพิณ
คู่กับแดนดินของเวียงเจียงใหม่
สาวเจ้าจงภูมิใจ๋ บ่ลืมว่าเฮาลูกแม่ระมิงค์

คนงามงามต้องงามคู่ความเด่นดี
ต้องฮักศักดิ์ศรีของกุลสตรีแม่ย่าแม่ญิง
เยือกเย็นสดใสเหมือนน้ำแม่ปิง
มั่นคงจริงใจฮักใครฮักจริง
สาวเอ๋ยสาวเวียงพิงค์ สาวเครือฟ้าเกยซมซาน
อีกแม่สาวบัวบาน นั่นคือนิทานสอนใจ๋


เพลงล่องแม่ปิง เป็นทำนองเพลงพื้นบ้านเดิม มีความไพเราะอ่อนหวานเป็นอย่างมาก ไม่ทราบนามผู้แต่ง ในชื่อเพลงล่องแม่ปิงคาดว่าน่าจะเป็นการตั้งชื่อในทำนองเดียวกับเพลงล่องน่าน ล่องโขง ส่วนทำนองเพลงมีจังหวะที่ใกล้เคียงและสอดรับกับเพลงรอบเวียงหรือสร้อยเวียงพิงค์ ในการบรรเลงเพลงล่องแม่ปิงด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านซึง สะล้อ บางครั้งก็เล่นสลับแทรกกันระหว่างเพลงล่องแม่ปิงกับเพลงรอบเวียง

ในเพลงพื้นบ้านล้านนา เพลงล่องแม่ปิงเป็นเพลงปฐมบทหรือเป็นเพลงครูสำหรับการเริ่มต้นเรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนา เพราะเป็นเพลงที่ติดหูและรู้จักกันโดยทั่วไป ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้หัดเรียนดนตรีพื้นบ้านล้านนาด้วยเพลงล่องแม่ปิงเช่นกัน

มีครูท่านหนึ่งเคยบอกว่าเพลงล่องแม่ปิงน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเพลงลาวของเพลงไทยเดิม เนื่องจากมีโครงสร้างของโน๊ตหลักคล้ายกัน ซึ่งตรงนี้ก็คงจะขอให้ผู้ที่เชียวชาญได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วยนะครับ แต่สำหรับตัวผู้เขียนเอง เพลงล่องแม่ปิงนี้เวลาฟังทีไรมักจะได้กลิ่นไอของทางเหนือด้วยทุกครั้ง เนื่องด้วยฟังเพลงนี้มาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว จะได้ยินเพลงนี้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 30-40 รอบเลยทีเดียว

เนื้อหาของเพลงล่องแม่ปิงเป็นเนื้อหาที่สอนหญิงสาวให้ตระหนักถึงความเป็นกุลสตรีในสังคมของคนเหนือได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเห็นภาพสาวเหนือในฝันได้เลยทีเดียว นอกเหนือจากนั้นยังเปรียบไปถึงสาวเครือฟ้า สาวบัวบาน ซึ่งเป็นตำนานเรื่องเล่าของชาวเหนือซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทั้งนี้เรื่องราวของสาวเครือฟ้าและสาวบัวบานนั้น ผมจะเขียนลงบล็อก Lanna-Story ในโอกาสต่อไปครับ

เพลงพื้นบ้านล้านนา

เพลงพื้นบ้านล้านนา เพลงคำเมือง เพลงโฟล์คซ็องคำเมือง มีความเกี่ยวพันกันในเชิงวิวัฒนาการอย่างลึกซึ้ง เพลงพื้นบ้านล้านนาส่วนมากแล้วจะเป็นเพลงบรรเลงโดยเครื่องดนตรีล้านนา เช่น ซึง สะล้อ หรือแม้กระทั่งปี่ แน ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละอย่างก็จะมีการใช้เล่นบรรเลงต่างวาระกันไป โดยเฉพาะซึง สะล้อนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นได้ไม่ยาก จึงมักจะเล่นได้ทั้งในยามว่างไปจนถึงการเล่นในพิธีการ เมื่อมีการเล่นเป็นอย่างมากจึงทำให้เพลงพื้นบ้านล้านนามีการสืบทอดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย เพลงพื้นบ้านล้านนาจึงอยู่ในวิถีชีวิตของคนล้านนาได้อย่างกลมกลืน

เพลงพื้นบ้านล้านนาในสมัยก่อนไม่ได้มีการจดจารบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ จึงทำให้เพลงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปแต่ละพื้นถิ่น ทั้งที่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยไปจนถึงเป็นคนละเพลงกันไปเลยก็มี เมื่อมีการบรรเลงกันตลอดในชีวิตประจำวัน จึงได้มีการใส่เนื้อร้องเข้าไปให้สอดคล้องกับทำนอง นัยว่าเพื่อใช้ในการร้องเพลงประกอบการแอ่วสาว ไปจนถึงการบรรยายถึงวิถีชีวิตหรือธรรมชาติของผู้คน ซึ่งบางครั้งมีการแต่งเนื้อร้องที่สละสลวย ร้องร่วมกับการบรรเลงเครื่องดนตรีพื้นบ้านจนกลายเป็นเพลงคำเมืองสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

ส่วนเพลงโฟล์คซ็องคำเมือง เป็นวิวัฒนาการทางดนตรีที่นำเอาเครื่องดนตรีสากลตะวันตกเข้ามาบรรเลงร่วมกับเพลงพื้นบ้านและเพลงคำเมือง ในระบบบันไดเสียงของเครื่องดนตรีพื้นบ้านกับเครื่องดนตรีสากลมีความแตกต่างกัน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนจังหวะทำนองเพลงบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความลงตัว และบางครั้งก็นำเอาจังหวะทำนองทางตะวันตกเข้ามาใช้บรรเลงร่วมกัน ฟังดูมีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ใหม่ที่เป็นที่นิยมในสมัยใหม่ ผู้ที่ทำเพลงโฟล์คซ็องคำเมืองจนกลายเป็นที่นิยมก็คือ คุณจรัล  มโนเพ็ชร์ ราชาเพลงโฟล็คซ็องคำเมืองผู้ล่วงลับ

ในบล็อกเพลงคำเมือง Lanna-Songs นี้ มุ่งประสงค์ที่จะรวบรวมเอาเพลงพื้นบ้านล้านนา เพลงคำเมือง และเพลงโฟล์คซ็องคำเมือง มาเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป โดยผู้สร้างบล็อกพยายามที่จะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเพลงนั้นๆ สอดแทรกเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านความรู้และความบันเทิงไปด้วยกัน ทั้งนี้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อก Lanna-Songs สามารถที่จะแสดงความคิดเห็น ติชม เพื่อให้เนื้อหาของแต่ละบทความมีความถูกต้องสมบูรณ์และเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อไป

หากบล็อกนี้มีข้อติที่ไม่ดี ขอให้เป็นความผิดต่อเจ้าของบล็อกแต่เพียงผู้เดียว แต่หากบล็อกนี้มีคุณความดี ขอให้ผลความดีทั้งหลายตกแก่บรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์ ศิลปินทั้งหลายที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานจวบจนปัจจุบัน

ขออุทิศคำชื่นชมทั้งหลายแก่ คุณจรัล  มโนเพ็ชร์  ศิลปินราชาโฟล์คซ็องคำเมืองผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นต้นแบบนักดนตรีแห่งดินแดนล้านนา คุณจรัลเป็นทั้งครูและผู้ให้ทั้งแรงบันดาลใจและกำลังใจแก่ผมมาโดยตลอด คุณจรัลไม่เคยรู้จักผมเลย แต่ผมรู้จักคุณจรัลเป็นอย่างดีผ่านบทเพลงนับร้อยนับพันที่เขาได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ผมได้เรียนดนตรี เรียนกีตาร์ผ่านจังหวะและบทเพลงที่คุณจรัลได้บันทึกเอาไว้  และคงจะไม่เกินเลยไปนักถ้าผมจะเรียกคุณจรัลว่าเป็น "พ่อครู" อีกคนหนึ่งของผม

พ่อครูจรัล  มโนเพ็ชร์