หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

เพลงฮานี้บ่าเฮ่ย

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร์

แต่งงานด้วยกันเสียที อ้ายนี้ท่ามาจ๊าดเมิน ฮักสาวเหลือเกิน...ไปหาเงินเหียก่อน
(สร้อย) ต่อนยอน ต๊ะ...ต่อนย้อน ต๊ะ...ตอนยอน ต๋อนยอน ต๋อนยอน

สาว สาว อ้ายคนจนจน บ่มีรถยนต์ขี่ควาย น้องเห็นใจอ้าย...ไปขายควายเสียก่อน
(สร้อย)

ขายควายได้เงินสามพัน แจ่มจันทร์อ้ายเหลือแต่งัว ไถนาสองตัว...ไปขายงัวเสียก่อน
(สร้อย)

ขายงัวได้เจ็ดพันป๋าย เสียดายบ่ได้ไถนา น้องคงบ่ว่า...ไปขายนาเหียก่อน
(สร้อย)

ขายนาสำเร็จเสร็จดี บ่มีแล้วเหลือแต่ตัว เค้ารู้กันทั่ว...ไปขายตัวเหียก่อน
(สร้อย) (สร้อย) ฮานี้บ่าเฮ่ย.....

เพลงฮานี้บ่าเฮ่ย เป็นเพลงทีี่คุณจรัลได้นำเอาเพลงพื้นเมืองเดิมคือเพลงปั่นฝ้าย ซึ่งแต่งขึ้นโดยพ่อครูไชยลังกา  เครือเสน พ่อครูซอและศิลปินอาวุโสจังหวัดน่าน โดยท่านได้นำเอาเพลงพื้นเมืองเดิมคือเพลงชักใบมาดัดแปลงให้เป็นเพลงปั่นฝ้าย เพื่อใช้สำหรับการขับซอของชาวน่าน คือซอปั่นฝ้าย โดยในจังหวัดน่านนั้นนิยมขับซอโดยใช้เครื่องดนตรี ซึงกับสะล้อ ซึ่งแตกต่างกับทางเชียงใหม่ที่ใช้ปี่จุมกับซึง ต่อมาได้มีการแต่งเพิ่มเติมเข้าไปโดยนายสุนทร ณ เชียงใหม่ ในท่อนที่สอง จนเป็นเพลงสาวไหมปั่นฝ้าย เพื่อใช้ในการประกอบการฟ้อนสาวไหมปั่นฝ้ายของทางวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่  ในเพลงฮานี้บ่าเฮ่ยนี้ใช้เฉพาะท่อนแรกที่เป็นเพลงปั่นฝ้ายมาใช้เป็นทำนองเพลง

คุณจรัลได้ใช้ซึงมาประกอบการเล่นกับกีตาร์ ซึ่งได้สำเนียงคันทรี่แบบหวานๆ และด้วยเนื้อเพลงที่ฟังดูสนุกสนานชวนให้หัวเราะ จึงทำให้เพลงนี้เป็นที่ชื่นชอบติดหูของผู้ที่ได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นคนเหนือหรือคนภาคอื่นๆ บางคนไม่รู้จักชื่อเพลงก็มักจะเรียกชื่อว่าเพลงต่อนยอน ซึ่งเมื่อก่อนผมเล่นดนตรีโฟล์คซ็องก็มีคนขอเพลงต่อนยอนขึ้นมา เล่นเอางงไปพอสมควรว่าเป็นเพลงอะไร

เนื้อเพลงที่คุณจรัลแต่ง เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับการขอสาวแต่งงานของไอ้บ่าวคนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเจอสาวขี้งก เห็นเรื่องเงินหรือเรื่องสินสอดทองหมั้นเป็นสำคัญ หรือถ้ามองอีกแง่แม่สาวคนนี้อาจจะไม่ได้รักไอ้บ่าวคนนี้ก็ได้ จึงได้หาเรื่องหรือผลัดผ่อนเลื่อนไปเรื่อยๆ ที่สำคัญไอ้บ่าวนี่ก็ช่างรักช่างตื้อเสียจริง ยอมขายควายขายนาเอาเงินมาแต่ง จนสุดท้ายดูท่าก็คงไม่ได้แต่ง หรือทนไม่ไหวก็เลยตะโกนว่า ฮานี้บ่าเฮ่ย

คำว่า ฮานี้บ่าเฮ่ย ไม่แน่ใจว่าเป็นคำบ่นหรือว่าคำสบถ คิดว่าน่าจะเป็นคำสบถมากกว่า เพราะมักจะพูดออกมาด้วยความรู้สึกเบื่อ เหนื่อย เซ็ง ผิดหวัง ประมาณนั้น ซึ่งมักจะเป็นสำนวนพูดติดปากของคนเหนือจนเป็นปกติ

เพลงนี้เมื่อก่อนผมเล่นกีตาร์และมีคนเล่นซึงให้ ช่วงหลังคนเล่นซึงติดภารกิจทำให้ต้องเล่นเดี่ยวบ้าง ก็เลยพยายามเล่นแบบ Finger Style ซึ่งก็เพราะไปอีกแบบ แต่เวลาร้องไปด้วยนี่ต้องฝึกให้มากหน่อย แต่ขนาดนั้นก็ยังมักจะร้องเพี้ยนที่ท่อนต่อนยอนทุกครั้ง ไว้ถ้ามีโอกาสจะอัดวีดีโอเล่นแบบ Finger Style มาให้พร้อมกับโน๊ตและแท็ป เผื่อผู้มีผู้ที่สนใจจะได้นำไปลองเล่นดูได้ครับ

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

เพลงม่วนขนาด

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร์

ตะก่อนอยู่เมืองเหนือเวียงเจียงใหม่ดวง ป๋างมาอยู่ในเมืองหลวงอู้จะใดว่าจะดี
จะเอาสบายต้องมีสตางค์เป๋นก๋อง กอนว่าเฮาใส่เงินใส่ทองรับรองว่าเฮามีศักดิ์มีศรี
แบกดินแบกทรายดิ้นไปดิ้นมาหาตังค์ พอได้เงินบ่มีคนจัง เงินมันดังในปฐพี
เงิน เจ้าป้อเงิน คนทำมาหาเงินกั๋นม่วนขนาด

จะไปจะมารถรามันก่เว็ย กวั๊กมือก่บึ่งมาเกยรถติดแอร์ล่องกอง
ถ้าอยากจะเฮรถเมล์โคตรจะมันส์ คนขึ้นไปขี่ได้เป็นพันยัดกันไปมาเป็นปลากระป๋อง
สะดวกสบายน้ำไฟเข้าไปถึงเฮือน ใจ้ไปจะมีใบทวงสิ้นเดือนมีคนมาเก็บเงินทอง
ทวง...เจ้าแม่ทวง กระเป๋ากล๋วงไปเลย จ่ายม่วนขนาด

อยู่ไปอยู่มากึ๊ดเติงบ้านนาป่าดอย ปิ๊กคืนจะมีไผกอยถ้าอยู่ดอยฮักตั๋วเฮา
ต่างคนต่างไปใจ้ชีวิตในตั๋วเมือง หน้าแล้งไปเหลือแต่ตอเฟืองลืมมาแลคนแก่คนเฒ่า
อี่ปู่ย่าเฮยซักวันข้าคงจะคืน เมื่อบ้านเฮาบ่ลืมวานซืนเคยมีมาในป่าและเขา
ซึงฮับค่าวซอ เสียงสะล้อคลอครวญฟังม่วนขนาด

เพลงม่วนขนาด เป็นเพลงที่นำเอาเพลงพื้นเมืองเดิมคือเพลงเงี้ยว มาบรรเลงโดยใส่คำร้องเข้าไป เพลงเงี้ยวนี้เป็นเพลงเก่า ไม่ทราบนามผู้แต่ง มีลักษณะเป็นเพลงสำเนียงพม่า มักใช้เล่นบรรเลงกับเครื่องสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซึง มีความไพเราะและเล่นต่อเนื่องได้เรื่อยๆ จึงเหมาะที่จะนำมาใส่เนื้อร้องเพื่อขับกล่อมบรรยายเรื่องราวความรู้สึกต่างๆ โดยนำเอามาใช้เป็นการขับซอ เป็นซอทำนองเพลงเงี้ยว เป็นที่นิยมแพร่หลาย

เพลงนี้ใช้กีตาร์เล่นโดยมีซึงบรรเลงประกอบโซโล่ ผมชอบการบรรเลงเพลงนี้พอๆ กับเพลงอาขยานล้านนาเลยครับ คือมีความกลมกลืนกันอย่างบอกไม่ถูก เสียงกีตาร์เดินจังหวะเรียบๆ ด้วยการเกา (Picking) ไปเรื่อยๆ ส่วนซึงก็เล่นในท่อนสร้อย (Riff) และท่อนโซโล่ (Solo) เสียงซึงนั้นปรับตั้งได้เข้ากับเสียงกีตาร์ ไม่สูงไม่ต่ำ การดีดซึงก็ไม่รัวโน๊ตมาก ได้ทั้งความเหน่อและความหวานเข้ากับคอร์ดกีตาร์อย่างลงตัว จึงทำให้เพลงติดหูน่าฟัง และจำได้ง่าย นี่เป็นเสน่ห์ของเพลงคุณจรัลเลยครับ

ในเนื้อเพลงที่คุณจรัลได้แต่งคำร้องเข้าไป เป็นการเล่าเรื่องราวถึงวิถีชีวิตของคนในสังคมยุคหนึ่งที่ออกเดินทางไปทำงานหาเงินในเมืองหลวง ต้องจากบ้านนาป่าเขามาอยู่ในป่าคอนกรีต ใช้แรงงานหาเงินท่ามกลางความศิวิไลซ์ของคนเมือง รอวันที่จะได้กลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนที่มีพร้อมทั้งครอบครัวและธรรมชาติอันอบอุ่น

คุณจรัลแต่งเพลงนี้ได้เยี่ยมมากเลยครับ ภาษาง่ายๆ แบบพื้นๆ เหมือนอ้ายน้อยอ้ายใจ๋มานั่งเล่าให้ฟัง คือมีความเป็นชาวบ้านมาก ฟังแล้วสะท้อนความรู้สึกของคนเมือง (คนเหนือ) ที่จากบ้านไปทำงานในเมืองกรุงได้เป็นอย่างดี การบรรยายเปรียบเทียบนั้นเห็นภาพชัดเจนมาก กวั๊กมือก่บึ่งมาเกย รถติดแอร์ล่องกอง : บรรยายถึงรถแท็กซี่, คนขึ้นไปขี่ได้เป็นพันยัดกันไปมาเป็นปลากระป๋อง : เห็นภาพรถเมล์คนแน่นเอี๊ยด, น้ำไฟเข้าไปถึงเฮือน ใช้ไปจะมีใบทวงสิ้นเดือนมีคนมาเก็บเงินทอง : พูดถึงความสบายในการใช้ชีวิตที่ต่างจากบ้านนาชนบทที่ต้องจุดตะเกียงหาบน้ำ  นี่ถ้าสมัยที่คุณจรัลแต่งเพลงนี้มีรถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดิน อยากรู้ว่าแกจะบรรยายยังไงเหมือนกัน

เมื่อก่อนตอนที่ผมได้ไปเรียนและไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพ ก็ได้หอบหิ้วเอาเทปเพลงโฟล์คซ็องคำเมืองของคุณจรัลไปฟังด้วย แก้ขัดความคิดถึงบ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนช่วงสงกรานต์ผมกับเพื่อนที่พักอยู่ด้วยกัน (เป็นคนเชียงใหม่เหมือนกัน) ไม่ได้จองตั๋วกลับล่วงหน้าเพราะไม่คิดว่าตั๋วจะเต็ม พอวันที่ 12 ไปเดินหาซื้อตั๋วกันก็ไม่มีแล้วก็เลยคิดว่าปีนี้ไม่กลับก็ได้ กลับมาถึงห้องก็นอนเล่นพักผ่อนด้วยความเหนื่อยที่ไปตะลอนๆ กันมา ผมก็เปิดเพลงโฟล์คซ็องของคุณจรัล ผ่านไปสองสามเพลงพอถึงเพลงม่วนขนาด ท่ามกลางความเงียบพอเพลงจบ ผมกับเพื่อนลุกขึ้นมามองหน้ากัน ต่างคนต่างน้ำตาไหล เพื่อนมันก็โวยผมว่า มึงเปิดทำเ_ี่ยไร, เอ้า...ก็ฟังกันบ่อยๆ นี่เฮ้ย.... แล้วต่างคนต่างเงียบฟังเพลงต่อ พอเพลงของกิ๋นคนเมืองจบ ผมกับเพื่อนก็ลุกพร้อมกันอีกครั้งแล้วก็พูดพร้อมกัน ป่ะ...กลับโว้ย อยู่ไม่ไหวแล้ว  หลังจากนั้นก็เก็บกระเป๋า ผมกับเพื่อนหิ้วถุงนอนไปกันคนละผืนกะว่าถ้าหาตั๋วคืนนี้ไม่ได้ก็นอนกันที่หมอชิตรอจนกว่าจะได้ตั๋วละกัน ผลปรากฎว่าผมและเพื่อนได้รถเสริมกลับเที่ยวดึกเลยครับ ยัดกันเป็นปลากระป๋องเหมือนในเพลงเลย

ผมคิดว่าไม่เพียงแค่ผมเท่านั้น คนเหนือเกือบทุกๆ คนที่อยู่ไกลบ้าน ถ้าได้ฟังเพลงของคุณจรัลแล้วต่างก็คงจะมีความรู้สึกเหมือนกันคือคิดถึงบ้าน เสน่ห์ของความเป็นไทยเลยครับ คนไทยไม่ว่าจะเป็นคนภาคไหน ถ้าต้องจากบ้านจากถิ่นฐานไปอยู่ที่ไกลก็ยังมีความรักความผูกพันกับบ้านเกิดของตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

เพลงสาวมอเตอร์ไซด์

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร์

อ้ายคนจนจ๋ำต้องทนปั่นรถถีบ จะไปจีบอี่น้องคนงาม
พอไปถึงอ้ายก่ฟั่งเอิ้นถาม พอไปถึงอ้ายก่ฟั้่งเอิ้นถาม
อี่น้องคนงามกิ๋นข้าวแลงแล้วกา

น้องได้ยินก่ปิดประตู๋ดัง...ปัง อ้ายก่ฟั่งจู๋งรถถีบออกมา
อ้ายคนจนมันบ่มีวาสนา อ้ายคนจนมันบ่มีวาสนา
จะไปเหมือนฮอนด้า หรือยามาฮ่าไปได้จะใด

กำเดียวก่มีรถยามาฮ่า ร้อยซาวห้าก๋ายหน้าอ้ายไป
อี่น้องได้ยินก่ฟั่งลุกต๋ามไฟ อี่น้องได้ยินก่ฟั่งลุกต๋ามไฟ
แล้วเอิ้นออกไป...อ้ายเสื้อลายไปไหนมาเจ้า

อ้ายได้ยินหยังมาผิดใจ๋แต้ว่า จะขายนาซื้อคาวาซักกัน
พอไปถึงอ้ายจะเบิ้นน้ำมัน พอไปถึงอ้ายจะเบิ้นน้ำมัน
หื้อน้องแก้นควัน ต๋ายจ้างมันสาวมอเตอร์ไซด์

เพลงสาวมอเตอร์ไซด์ของคุณจรัล  มโนเพ็ชร์ เป็นเพลงในแนวคันทรี่ช้าๆ ใส่เนื้อเพลงที่เป็นภาษาเหนือหรือคำเมืองเข้าไป ซึ่งคำเมืองที่ใช้นั้นเป็นคำง่ายๆ หรือเป็นภาษาชาวบ้าน ทำให้เพลงนี้มีความเป็นพื้นบ้านหรือมีลักษณะลูกทุ่งพอสมควร คอร์ดกีตาร์ที่ใช้เล่นเพลงนี้เป็นคอร์ดง่ายๆ พื้นฐาน (เสียงตามในเพลงน่าจะใช้คีย์ D) ซึ่งก็เป็นเพลงที่นิยมใช้ฝึกเล่นกีตาร์กันเพลงหนึ่ง

เนื้อหาของเพลงนี้ฟังดูแล้วออกจะดูตลกขบขัน ด้วยลีลาการร้องและสำนวนของเพลง ซึ่งเพลงนี้สะท้อนภาพสังคมของคนเชียงใหม่ในยุคหนึ่งน่าจะราวๆ 30-40 ปีก่อน สมัยซึ่งมอเตอร์ไซด์หรือรถเครื่องกำลังเริ่มเป็นที่นิยมของคนเชียงใหม่ ใครที่ขับมอเตอร์ไซด์นั้นมักจะได้รับการยอมรับว่าดูเท่ ดูมีฐานะ ทันสมัย และส่วนมากคนที่ใช้มอเตอร์ไซด์มักจะเป็นคนในเมือง ซึ่งแตกต่างกับคนบ้านนอกที่ยังใช้รถจักรยานหรือรถถีบเป็นยานพาหนะอยู่ ดังนั้นสาวชาวบ้านหรือถ้าจะขอเรียกว่าสาวบ้านนอกจึงมักจะมองหรือให้ความสำคัญกับหนุ่มๆ ที่มีมอเตอร์ไซด์มากกว่าที่ขับรถจักรยานหรือรถถีบ

เพลงสาวมอเตอร์ไซด์บรรยายถึงความรู้สึกของอ้ายบ่าวคนหนึ่งที่ปั่นรถถีบได้เป็นอย่างดี ในคำเมืองที่ว่า "ผิดใจ๋" นั้นมันรวมเอาหลายๆ ความรู้สึกทางด้านลบเอาไว้ ตั้งแต่ น้อยใจ เสียใจ โกรธ เบื่อ เซ็ง ฯลฯ ซึ่งคำลักษณะนี้เป็นเสน่ห์ของคำเมืองที่บางครั้งมีแต่คนเมือง (คนเหนือ) ที่เข้าใจ และก็เป็นเสน่ห์ของคุณจรัลด้วยเช่นกันที่เลือกคำเหล่านี้มาใช้ในงานเพลงของเขามากมาย

สมัยเด็กตอนที่ผมได้ฟังเพลงนี้ จำได้ว่ารถยามาฮ่าร้อยซาวห้านั้นเป็นรถประเภทกึ่งวิบาก น่าจะเป็นพวก DT หรือเอ็นตาโร่ (ผมไม่ชำนาญเรื่องรถ ขอผู้รู้ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยครับ) ขนาดเครื่องก็ตามในเพลงคือ 125 ซีซี  ซึ่งคนที่ใช้รถพวกนี้มักจะเป็นพวกทำงานบนดอยหรือพวกป่าไม้ ครูดอยก็ใช้กันบ้าง คนขับนี้ถ้าใส่เสื้อลายสก๊อตกางเกงยีน ใส่แว่นตาดำขอบทองประมาณเรย์แบน โห...เท่สุดๆ (สมัยนั้นนะครับ) ผมจินตนาการว่าไอ้หนุ่มมอเตอร์ไซด์ที่ขับรถก๋ายหน้าอ้ายไปน่าจะประมาณนี้ อี่น้องคนงามจึงหลงใหลไปตามธรรมเนียม

เพลงสาวมอเตอร์ไซด์นี้ช่วงหลังเห็นว่ามีการนำมาทำเป็นเพลงแปลงแนวสตริง ซึ่งแปลงออกไปในทางหยาบโลนหรือแนวลามกบ้าง ผมเองไม่ได้ว่าการเอาไปทำเป็นเพลงแปลงไม่ดีหรือว่าเพลงที่ออแนวหยาบโลนลามกไม่ดีหรอกนะครับ จริงๆ ก็เป็นเพลงคำเมืองเหมือนกัน มีเนื้อหาที่เป็นชาวบ้านๆ ธรรมชาติมนุษย์เหมือนกัน ฟังแล้วออกแนวตลกๆ คลายความเครียดสร้างรอยยิ้มได้เป็นอย่างดี เพียงแค่อยากจะให้ผู้ฟังมีข้อมูลแยกแยะว่าอันไหนเพลงแปลง อันไหนเพลงเดิม เพื่อจะได้เป็นเสน่ห์ของเพลงคำเมืองจะได้ชัดเจนและคงอยู่ต่อไป

เพลงเสเลเมา

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร์

(พูด) ไก่แจ้ขะเนอกุง นกยูงขะเนอฮ้อย ก้อยข้านี้ไผจะมาตัดบ่ม แหล่......

อะโหล่โลโล้ ไปเมืองโก๋โตยปี้เงี้ยว หนตางก๊ดเลี้ยวข้าน้อยจะขอถาม หนตางเส้นนี้ก่เป็นถนนก่เมืองพาน เฮย ป้อเฮย ผ้าสีปู้เลยป๊าดกึ่งตุ้มกึ่ง ฮิ้ว...

เสเลเมา บ่าเดี่ยวเปิ๊กเซิ๊ก ข้ามน้ำเลิ๊กก่บ่ได้ขอดใส่โถ หนามเก็ดเก๊ามาจ่อมเอาขนก่แมวโพง ต๋าวันลงเจ้นจะแผ๋วต๋าฝั่ง  ฮิ้ว....

เสเลเมา บ่าเดี่ยวป๊อกซ๊อก ไปเล่นไพ่ป๊อกก่เสตึงลูกก่ตึงหลาน เล่นไปแหมน่อยก่เสตึงติ่นก่ตึงลาน  เหนาะ เจ้าปี้เหนาะ จะขี่เฮือเหาะขึ้นบนอากาศ  ฮิ้ว...

อะโหล่โลโล้ ส้มบะโอจิน้ำพริก เหน็บดอกปิ๊กซิก มาแป๋งต๋าเหลือกก่ต๋าแหล ไปตางปุ้นก่เป๋นประตู๋ก่ท่าแพ งามนักแก อะโหล่โล้โล แม่ฮ้าง แม่งาม

(พูด) เขี้ยวหล้าสันถูตงเน่อ ปี้บ่หยอดเมียงมางน่อลง ย่าลันต้องโตยสูปี้เล้า แหล่....

เสเลเมา บ่เดี่ยวป๋างกว้าง ไปเซาะซื้อจ๊างก่ได้กู้เอกก่งาขาว เอาไปลากไม้ตี้เจงแสนก่เจงดาว เหนาะ เจ้าปี้เหนาะ ผักกาดเก๊าะจิน้ำพริกหนุ่ม  ฮิ้ว...

เพลงเสเลเมาที่คุณจรัลได้นำมาขับร้องนี้ เป็นเพลงร้องพื้นถิ่นของขาวไทใหญ่ หรือชาวไต หรือที่ในเพลงเรียกว่าคนเงี้ยว (คนไทยใหญ่ไม่ชอบให้เรียกว่าเงี้ยวเหมือนที่คนจีนไม่ชอบให้เรียกว่าเจ๊ก) เพลงเสเลเมานั้นคาดว่าจะเป็นการขับกล่อมคู่ไปกับการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมือง โดยเป็นการขับขานเรื่องราวต่างๆ ที่ได้เห็นหรือประสบพบเจอมา สำเนียงของดนตรีออกไปทางสำเนียงพม่า (ไม่ใช่เพลงพม่านะครับ) ไอ้ที่ว่าสำเนียงพม่าเป็นยังไงนี่ผมเองก็บอกไม่ถูกครับ เป็นความรู้สึกจากที่ได้ฟังเพลงสำเนียงพม่ามา ซึ่งคล้ายกัน (ขอผู้รู้ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยครับ)

ในเนื้อเพลงนั้น คำหลายคำได้เขียนออกไปตามสำเนียงพูดของขาวไทใหญ่ เช่น เจงแสน : เจียงแสน, เส : เสีย เป็นต้น  เนื้อหาของเพลงก็น่าจะยกเอาเรื่องราวของคนไทใหญ่ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่มาเขียนเป็นเพลง ซึ่งเพลงเสเลเมานี้ก็เป็นทำนองเพลงที่ใช้ในการซอด้วยเช่นกัน เรียกว่าซอทำนองเพลงเสเลเมา ซึ่งจะเป็นคนละอย่างกันกับซอทำนองเพลงเงี้ยวนะครับ

ขึ้นต้นเพลงด้วยการพูดนั้น ผมเคยถามคนไตที่รู้จักกัน เค้าบอกว่าตรงที่ขึ้นต้นนั้นฟังเข้าใจได้ แปลเป็นภาษาไทยกลางว่า ไก่แจ้ขันในกรุง นกยูงขันในห้วย ตัวข้านี้จะมีใครมาเหมาะสม หมายถึงเป็นการเปรียบเทียบว่าไก้แจ้นั้นมีชีวิตอยู่ในบ้านในเมือง นกยูงนั้นมีชีวิตอยู่ในป่าในห้วย ส่วนตัวข้า (ผู้พูด) นั้นจะมีใครมาเหมาะสมอยู่ด้วยกัน (ไม่มั่นใจว่าจำมาถูกหรือเปล่า วานผู้รู้ช่วยแก้ไขด้วยนะครับ) แต่ตรงที่พูดท่อนกลางนั้น คนไตที่รู้จักกันบอกว่าฟังแล้วไม่เข้าใจครับ

เพลงพี่สาวครับ

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร์

ลัล ลัล ล้า.....

ปี้สาวครับ สวัสดีครับปี้ครับ จำน้องจายคนนี้ได้ก่ จำได้บ่ได้ก่บอกมา ล้า ลา...

ปี้สาวครับ ต๋อนนี้ผมเป็นหนุ่มแล้วครับ มีแม่ญิงมาไล่จับ จะยับเอาผมไปเป๋นแฟน ล้า ลา...

เจอกันเมื่อสองสามปีก่อน ผมยังหละอ่อนและซนแก่น ฮักเป๋นปี้สาวบ่ได้เมามาเป๋นแฟน ปี้ก่ฮักผมเป็นน้องจาย

ปี้สาวครับ ต๋อนนี้ผมฮักปี้แล้วครับ จะฮักปี้บ่มีหน่าย บ่อยากเป๋นน้องายแล้วหล่ะ

หมายเหตุ  โดยผู้เขียน
ปี้สาว : พี่สาว (เขียนตามสำเนียง)
ยับ : จับ
หละอ่อน : เด็ก

เพลงพี่สาวครับ ของคุณจรัล  มโนเพ็ชร์ เป็นเพลงออกไปทางคันทรี่เบาๆ หวานๆ ซึ่งเมื่อใส่คำร้องที่เป็นภาษาเหนือง่ายๆ เข้าไปแล้วได้กลิ่นความเป็นล้านนาออกมาทันที เพลงนี้คุณจรัลได้ใช้ภาษาที่พื้นๆ ง่ายๆ จริงๆ ครับ แต่มีความเหมาะเจาะลงตัว น่ารัก ชวนยิ้มได้เป็นอย่างดี

ผมเคยอ่านบทความของคุณประภาส  ชลศรานนท์ ที่เขียนให้คุณจรัลในหนังสือเล่มหนึ่งถึงความรู้สึกที่มีต่อคุณจรัล เขาบอกว่าครั้งแรกที่ได้ฟังเพลงนี้ มีความรู้สึกว่าใครหนอช่างเอาคำเมืองมาแต่งเป็นเพลงได้อย่างน่ารักขนาดนี้ และท่วงทำนองยังหวานเสียจนนึกไปถึงครั้งที่เคยเคอะเขินในการจีบสาวเมื่อยังหนุ่มๆ เลยทีเดียว

ผมว่าเด็กหนุ่มแทบจะทุกคนต่างก็เคยรู้สึกแบบเดียวกับที่คุณจรัลแต่งเพลงพี่สาวครับเหมือนกัน สมัยเรายังเด็กรุ่นๆ ไม่ได้มองสาวรุ่นเดียวกันหรอกครับ มีแต่มองสาวรุ่นพี่กันทั้งนั้น จะไปมองสาวรุ่นเดียวกันก็เมื่อเป็นวัยรุ่นเต็มตัวแล้ว และผมก็เชื่อว่าทุกคนที่ฟังเพลงนี้ก็จะนึกไปถึงพี่สาวที่เคยแอบรักเช่นกันครับ

เพลงสาวเจียงใหม่

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร

ข้าเจ้าเป๋นสาวเจียงใหม่ แหมบ่เท่าใดก่จะเป็นสาวแล้ว
ตึงวันมีบ่าวมาแอ่ว มาอู้มาแซว เป๋นคนหละปูน

ข้าเจ้าจะเลือกเอาไผ๋ อ้ายบ่าวเจียงฮายชื่อแก้วมาลูน
อ้ายก๋องคนแป้เขี้ยวซุน อ้ายคำ อ้ายมูล อ้ายสม อ้ายมี

เปิ้นบอกว่าจะมาขอ ข้าเจ้าก่รอมาแล้วเป๋นปี๋
ป้อแม่ถ้าปู๋สะลี อ้ายบ่าวตั๋วดีหายแส้บหายสอย

ข้าเจ้าบ่เชื่อแหมแล้ว จะแต่งกับแม้วไปอยู่ป๋ายดอย
ขายผ้า ขายเพชร ขายพลอย ขายแหวน ขายสร้อย อยู่บนดอยปุย

บทเพลงสาวเจียงใหม่ (ขออนุญาตเขียนตามสำเนียงพูด) ที่ขับร้องโดยคุณสุนทรี  เวชานนท์ ซึ่งเชื่อว่าคนไทยเกือบทั่วประเทศถึงแม้จะไม่ใช่คนเหนือจะต้องเคยได้ยินได้ฟังเพลงนี้  ซึ่งกล่าวถึงชีวิตการแต่งงานของหญิงสาวเชียงใหม่หรือสาวชาวเหนือ ในสำเนียงการร้องออกจะไปในทางสนุกตลกมากกว่าเป็นเรื่องจริงจัง แต่เนื้อหาของเพลงก็ได้สะท้อนวิถีชีวิตยุคหนึ่งของผู้หญิงทางเหนือ ซึ่งน่าจะราวๆ มากกว่า 50 ปีก่อน เนื่องจากยังคงมีวัฒนธรรมการแอ่วสาวอยู่ในเพลง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตพื้นบ้านของสังคมทางเหนือในอดีต

ตั้งแต่เด็กจนโตผมได้ฟังเพลงสาวเจียงใหม่นี้ พยายามนึกหน้าตาของสาวเจียงใหม่ในเพลงว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จนแล้วจนรอดก็นึกไปเห็นเป็นหน้าของคุณสุนทรีทุกครั้ง เนื่องด้วยเสียงร้องของคุณสุนทรีนั้นเป็นเอกลักษณ์ของเพลงสาวเจียงใหม่ไปเสียแล้ว คือฟังคนอื่นร้องถึงจะเพราะพริ้งยังไงก็ไม่เหมือนคุณสุนทรี ผมไม่ขอขยายความว่าเอกลักษณ์เสียงของคุณสุนทรีเป็นยังไง เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว แต่สำหรับผมและใครหลายๆ คน ถ้าเพลงสาวเจียงใหม่ก็ต้องเป็นคุณสุนทรีร้องนั่นแหละ ถึงจะใช่

สำหรับหนุ่มน้อยชาวเหนือแล้ว เพลงสาวเจียงใหม่เป็นเพลงแรกๆ ที่ใช้ในการหัดเล่นกีตาร์ เนื่องด้วยคอร์ดและการดำเนินเพลงแบบ Picking หรือการเกากีตาร์นั้นเหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นเล่น ทางเดินคอร์ดแบบพื้นฐาน C Am Dm G7 F  ซึ่งไม่ยากสำหรับคนที่เริ่มหัดเล่นกีตาร์ ตัวผู้เขียนก็ได้ใช้เพลงสาวเจียงใหม่เป็นเพลงปฐมบทหรือเพลงครูในการหัดเล่นกี่ตาร์ด้วยเช่นกันครับ

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

เพลงอาขยานล้านนา

คำร้อง จรัล  มโนเพ็ชร

สิบแหลมซาวแหลมบ่เท่าแหลมใบพร้าว
สิบเหล้าซาวเหล้าบ่เท่าเหล้าเดือนเกี๋ยง
สิบเสียงซาวเสียงบ่เท่าเสียงแมงว้าง
สิบจ๊างซาวจ๊างบ่เท่าจ๊างเอราวัณ

อายุสิบปี๋อาบน้ำบ่หนาว
อายุซาวปี๋แอ่วสาวบ่ก้าย
สามสิบปี๋บ่หน่ายสงสาร
สี่สิบปี๋ยะก๋านเหมือนฟ้าผ่า

อายุห้าสิบปี๋สาวด่าบ่เจ็บใจ๋
หกสิบปี๋ไอเหมือนฟานโขก
เจ็บสิบปี๋บ่าโหกเต๋มตั๋ว
แปดสิบปี๋ไค่หัวเหมือนไห้

อายุเก้าสิบปี๋ไข่กต๋ายบ่ไข้ก่ต๋าย
จะเอาอันใดปบ่ได้ซักอย่าง
บ่สัวะบ่วางบ่หายหม่นเศร้า
คนบ่าเก่าเล่าไว้มาเมิน

หมายเหตุ คำแปลโดยผู้เขียน
ซาว : ยี่สิบ
เดือนเกี๋ยง : เดือน ๑ เหนือ ตรงกับเดือน ๑๑ ภาคกลาง หรือช่วงเดือนตุลาคมในปัจจุบัน
แมงว้าง : แมงช้าง
จ๊าง : ช้าง
ก้าย : เบื่อ หน่าย
ฟานโขก : ฟาน-กวางชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กพอๆ กับสุนัข ฟานโขก-เสียงร้องของฟาน
บ่าโหก : ริดสีดวง ในที่นี้หมายถึงก้อนเนื้อ ปุ่มโปนต่างๆ
ไค่หัว : หัวเราะ
สัวะ : ละทิ้ง ปล่อย
บ่าเก่า : เป็นคำเรียกคนสมัยก่อน

เพลงอาขยานล้านนา เป็นเพลงที่จรัล  มโนเพ็ชร์ได้นำเอาสำนวนคำเปรียบเทียบของคนโบราณมาใส่ทำนองขับร้องได้อย่างไพเราะและลงตัว ท่อนแรกเป็นการเปรียบเทียบที่สุดของสิ่งของแต่ละอย่าง เช่นที่สุดของเหล้าต้องเป็นเหล้าเดือนเกี๋ยง เป็นต้น ส่วนท่อนที่เหลือเป็นสำนวนโบราณ

เพลงนี้ได้นำเอาทำนองเพลงพื้นบ้านเดิมคือเพลงพม่า มาใส่เนื้อร้องเข้าไป ซึ่งทำนองเพลงพม่านี้ในทางเหนือเองก็ได้มีการใช้เป็นเพลงขับร้องอยู่แล้วในรูปของการขับซอ แต่ก่อนเพลงพม่าเป็นเพลงบรรเลงซึง สะล้อ แบบไม่ลงจังหวะตกตามการนับจังหวะกลอง ภายหลังได้มีการปรับท่อนและจังหวะจนลงตัวกับกลอง สามารถใช้บรรเลงเป็นวงดนตรีพื้นบ้านและเพลงซอได้ ปัจจุบันได้มีการนำเอาเพลงทำนองพม่าไปทำเป็นเพลงคำเมืองสตริง โดยการใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าเลียนเสียง เช่น คีย์บอร์ด กีตาร์ เบส กลอง ซึ่งก็ได้รับความนิยมไปตามยุคสมัย แต่คนฟังโดยทั่วไปมักจะไม่รู้ว่าเป็นเพลงดั้งเดิมอะไร

เพลงอาขยานล้านนานี้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งเล่นดนตรีทั้งพื้นบ้านล้านนาและสากล และได้ฟังเพลงของจรัล  มโนเพ็ชร์ มาพอสมควร มีความรู้ลึกว่าเพลงอาขยานล้านนานี้ใช้กีตาร์เล่นเข้ากับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน (ซึง) ได้อย่างไพเราะลงตัวมากที่สุด (ในบรรดาเพลงของจรัลทั้งหมด) ทั้งวลีโน๊ต โทนเสียง คอร์ด เข้ากันได้อย่างกลมกลืน แนะนำให้ท่านลองหาฟังดูครับ